บ้านดิน คือ บ้านที่ทำมาจากธรรมชาติ วัสดุที่ใช้ก็ล้วนมาจากธรรมชาติ เรียกได้ว่าวัสดุรอบตัวเรานั้น สามารถนำมาผสมผสานสร้างบ้านหลังน้อยๆเพื่ออยู่อาศัยได้เป็นการใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงที่สุด
การก่อสร้างบ้านดินนั้นใช้งบประมาณไม่มาก ในการสร้างบ้านธรรมดาหนึ่งหลังอาจต้องใช้ทรัพยากรมากมาย แต่บ้านดินนั้น ใช้วัตถุดิบหลักคือดิน และนำมาผสมกับส่วนผสมหลายๆอย่างที่เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่รอบๆตัวเรา
บ้านดินนั้นหลังจากที่โดนรื้อทิ้ง ก็สามารถนำเอาดินมาปลูกพืชผักต่อได้ แต่ถ้าบ้านเป็นปูนเมื่อรื้อแล้วเราก็ต้องค่อยๆกำจัดขยะกองโต และต้องช่วยกันปรับหน้าดินให้ดีขึ้นอีกครั้ง บ้านดินถือเป็นบ้านที่มีชีวิต เพราะภายในห้องนั้นจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 24-26 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี ซึ่งคิดดูดีๆก็เท่ากับได้อยู่ในห้องแอร์เย็นๆตลอดเวลา อีกทั้งบ้านดินยังดูดซับความชื้นได้ดี เปรียบเหมือนบ้านดินเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับเรา ทั้งให้ความอบอุ่นและให้ความเย็นสบายไปพร้อมๆกัน การสร้างบ้านดินใช้เวลาไม่นาน เทียบกับบ้านที่สร้างด้วยปูน และสามารถสร้างได้ง่าย
ประวัติความเป็นมาของบ้านดิน
โจน จันใด ชื่อเล่นก็โจ ใครจะเรียกอะไรก็ได้ เป็นคนบ้านศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เกิดที่นั่น เติบโตที่นั่น พ่อแม่เป็นชาวนา เรียนจบ ป.๗ อยากเรียนหนังสือต่อ แต่ทางบ้านไม่มีเงิน เลยไปบวช เป็นเณร ๔ ปี เรียนจบเทียบเท่ามัธยมปลาย การศึกษาอยู่ในห้องเรียนมีแค่นี้ แต่การศึกษาในชีวิต มีตลอด
โดยการที่ได้มาสนใจบ้านดินนี้ โจน จันใด ได้เล่าว่า ....
เพราะว่าผมเบื่อหน่ายกับการทำงานในเมือง อยากใช้ชีวิต ที่เรียบง่ายที่สุด จึงคิดถึงเรื่องการพึ่งตนเอง ชีวิตที่ง่ายที่สุดมันจะง่ายไม่ได้ถ้าไม่พึ่งตนเอง อย่างน้อยปัจจัย ๔ เราน่าจะช่วยตัวเองได้ ไม่เดือดร้อน ก็ถือว่าใช้ได้
ผมออกจากกรุงเทพฯ เพราะเบื่อ ก็มาคิดเรื่องนี้ จึงเริ่มต้นทำกระท่อมไม้ไผ่อยู่เอง ปลูกผักกินเอง รู้สึกว่าพึ่งปัจจัย ๔ ได้ และชีวิตมันง่ายขึ้น น่าประทับใจ แล้วก็ชอบวิถีชีวิตแบบนี้เรื่อยมา จนถึงทุกวันนี้ ระหว่างนั้นมีแฟนเป็นคนอเมริกัน เขามาอยู่ที่ทุ่งนาด้วยปีกว่าๆ จากนั้นเขาคิดอยาก จะไปเรียนนวดที่อเมริกา และอยากให้ผมไปด้วย ก็เลยไปอยู่ที่สหรัฐฯ ๒ ปี แต่ก่อนจะกลับเมืองไทย เราขี่จักรยานเที่ยวใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ขี่จากรัฐยูท่าห์ไปโคโลราโด เม็กซิโก อาริโซนา แล้วกลับมา แคลิฟอร์เนีย
ช่วงนี้เราได้ผ่านหมู่บ้าน หนึ่งชื่อว่า Toapueblo เป็นหมู่บ้านอินเดียนแดง หมู่บ้านแรก ที่ผมเห็น คือในระหว่างขี่จักรยานในเขตนั้นมันเป็นทะเลทรายทั้งหมด ไม่มีร่มไม้เลย มันร้อนมาก แต่พอเข้าไปในบ้านรู้สึกเย็นมาก ก็คิดถึงบ้านที่ยโสธรทันทีเพราะมันร้อนมากเหมือนกัน กลับมาก็คิดว่า จะสร้างบ้านแบบนั้นบ้าง หลังจากนั้นผมก็สร้างบ้านหลังแรก ไม่ได้เรียน แค่ไปดูนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็สอบถามเขา แล้วมาค้นดูหนังสือในห้องสมุดถึงวิธีทำ แค่นั้นเอง แล้วก็ลงมือ ทำเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เราเป็นคนที่เติบโตมากับดินอยู่แล้ว เป็นชาวไร่ชาวนา เรารู้จัก นิสัยดินดี เมื่อรู้ว่าทำยังไงแล้วก็ง่าย
หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ ปีละหลังสองหลัง จนเมื่อ ๒ ปีที่แล้วทางอาศรมวงศ์สนิท จัดเวิร์คช็อพ บ้านดินขึ้น โดยเขาไปเจอฝรั่ง ๒ คน ชื่อไจแนลกับมิแชลที่ทำบ้านดินมาก่อน เขาก็ให้ ๒ คนนี้มาสอน และเชิญผมไปดู ที่เขาสอนเรานี่เป็นอีกเทคนิคหนึ่งเรียกว่าค็อบ ส่วนเทคนิคที่ผมทำนี่ เป็นแบบ ก้อนอิฐตากแดด ซึ่งทำเป็นอิฐก่อนแล้วมาก่อ แต่ที่เขาทำ คือการเหยียบดินเหนียวๆ ผสมกับฟางยาวๆ แล้วก็มาปั้นเป็นบ้านขึ้น ซึ่งมันยากมาก พอเขาทำเวิร์คช็อพที่นั่นเสร็จ ปรากฏว่าคนที่เข้าร่วมเวิร์คช็อพไม่อยากทำเลย ถ้ายากขนาดนี้ไม่เอาดีกว่า ผมก็เลยบอกว่า ผมทำได้ง่ายกว่านี้ ฝรั่งสองคนนั้น ก็เลยมาเรียนกับผม จากนั้นก็กระจายเวิร์คช็อพออกไป แม่ชีศันสนีย์สนใจ เอาไปออกทีวีเลยยาวไปเลย
๒ ปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่ได้อยู่บ้าน เดินทางไปเผยแพร่เรื่องบ้านดินทั่วประเทศ จนถึงทุกวันนี้ ผมตั้งใจไว้ว่า จะใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องบ้านดิน ทำบ้านดิน โดยเฉพาะ ใครเชิญที่ไหนไปหมด ขอให้เป็นการเรียนรู้ เพื่อคนอื่น จนปีนี้จะเข้าปีที่ ๓ ผมก็ชะลอลงเพราะคิดว่าเรื่องบ้านดินน่าจะจบ คนที่ทำเป็น ก็มีมากแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น